วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อาบน้ำอย่างไรให้สวย

อาบน้ำอย่างไรให้สวย

อาบน้ำให้สวย


*การอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันที่สุดแสนจะธรรมดา แต่เชื่อหรือไม่ว่า หากพิถีพิถันกับการอาบน้ำสักนิดจะส่งผลให้ผิวพรรณสวยขึ้นและไม่เจ็บป่วยง่ายอีกด้วย สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่ออาบน้ำมีดังนี้ค่ะ

*ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

*ผิวธรรมดา-ผิวมัน : เลือกใช้สบู่ที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงกับผิวมากที่สุด คือ pH 5.5 เพราะสบู่ที่เป็นด่างเมื่ออาบกับน้ำกระด้าง จะทำให้เกิดขี้ไคลสบู่ ถูล้างไม่ออก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีกลิ่นฉุนและแรง เพราะอาจทำให้ผิวแพ้ได้

*ผิวแห้ง : เลือกใช้ครีมหรือเจลอาบน้ำแทนสบู่ เพราะครีมหรือเจลมีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรซ์เซอร์ซึ่งไม่ละลายไปกับน้ำที่อาบและเคลือบผิวไว้หลังอาบน้ำเสร็จแล้ว สังเกตจากคราบลื่นๆ ที่อยู่บนผิว ซึ่งบางคนเข้าใจผิดคิดว่าล้างออกไม่หมด จึงล้างต่ออีก ซึ่งอาจทำให้ผิวระคายเคือง แดง หรือลอกได้

*ผลิตภัณฑ์อโรม่า

*หลังแช่น้ำในอ่างอาบน้ำอุ่นเสร็จแล้ว ควรอาบน้ำเย็นอีกครั้งเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้เป็นปกติ และใช้น้ำมันหอมระเหยหรืออโรม่าร่วมด้วย มีข้อดีคือ น้ำมันบางชนิดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้โดยตรงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดูมีน้ำมีนวลมากกว่าการใช้โลชั่นทาผิว, บรรเทาอาการเจ็บปวดเมื่อยล้า, ปรับสมดุลของกระบวนการเมตาบอลิซึม ระบบการย่อยช่วยให้ร่างกายสะสมพลังงานได้ดีขึ้น และนอนหลับง่ายขึ้น

*สำหรับคุณภาพของน้ำมันหอมระเหยดูได้จากราคา ถ้าราคาแพงคุณภาพจะดีกว่า นอกจากนี้ควรเลือกกลิ่นอโรม่าให้เหมาะกับชนิดของผิว เช่น ผิวธรรมดา-ผิวมันควรเลือกใช้น้ำมันดอกมะลิ , ดอกเยอราเนียม, ดอกกุหลาบ 1 หยดต่อน้ำปริมาตร 1 อ่างช่วยรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างให้กับผิว ถ้าผิวแห้งควรใช้น้ำมันดอกกุหลาบ, จันทร์หอม, คาโมมาย 2 หยด ตามด้วยน้ำมันพืช เช่น โจโจ้บา หรือ sweet almond 2-3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำปริมาตร 1 อ่าง

*อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของการใช้น้ำมันหอมระเหยไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ ดังนั้นอย่าใช้น้ำมันมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดผลตรงข้าม

*ใยบวบ

*ทำมาจากกากบวบ ใช้ถูตัวขจัดคราบไคลออกได้หมดจดมากกว่าฝ่ามือ เซลล์ผิวที่ตายแล้วจะหลุดออกมาโดยง่าย และประหยัดสบู่มากกว่าด้วย เมื่อใช้เสร็จควรล้างเศษสบู่ออกให้หมดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ใยบวบไม่เหมาะกับคนผิวแห้งเพราะอาจทำให้ผิวแดงระคายเคืองได้ สำหรับคนผิวแห้งเลือกใช้ฟองน้ำแทน

*แปรงขัดตัว

*ทำจากไนลอนเป็นเส้นๆ ขัดขี้ไคลออกเหมือนกับใยบวบ แต่แรงกดมากกว่าและมีด้ามจับสะดวก ก่อนใช้ให้เติมอโรม่าที่ขนแปรง เวลาขัดควรหลีกเลี่ยงบริเวณศูนย์รวมเส้นประสาทหรือจุดอ่อนบางเช่น กระดูกสันหลังและไหปลาร้า เพราะจะทำให้เกิดรอยดำและกระเทือนต่อระบบประสาทได้ ควรทำความสะอาดแปรงขัดตัวของคุณทุกสัปดาห์ โดยแช่น้ำส้มสายชูทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างอีกครั้งด้วยน้ำสบู่อุ่นๆ

*เกลือหรือสครับ

*ถูให้ทั่วตัวช่วยขจัดเซลล์ผิวชั้นนอกออก ควรใช้สครับสัปดาห์ละครั้ง หากใช้บ่อยเกินไปจะทำให้ผิวอ่อนแอ ระคายเคืองง่าย

*เทคนิคอาบน้ำให้สวย

*น้ำเย็น เหมาะกับอากาศร้อน แนะนำให้อาบน้ำที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ทำให้ผิวสดชื่นเย็นสบาย ลดอาการอ่อนเพลียของกล้ามเนื้อ รูขุมขนกระชับ ผิวตึงตัวดี เริ่มจากราดน้ำเย็นบนใบหน้า แขน ขาก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิ จากนั้นถูเบาๆ ด้วยสบู่ จากปลายมือมายังต้นแขน จากปลายเท้าขึ้นมายังหน้าท้อง ส่วนบริเวณจุดสัมผัสต่างๆ เช่นข้อศอก หัวเข่า ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของผงขัดถูทิ้งไว้ 3-4 นาที เพื่อให้ผิวลดความหยาบลง หลังอาบน้ำใช้ฝ่ามือตบเบาๆ ทั่วตัว เพื่อกระตุ้นผิวหนังและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

*น้ำร้อน อุณหภูมิประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าอุณหภูมิภายในร่างกายเล็กน้อย เหมาะกับกระตุ้นคนขี้เกียจที่พึ่งตื่นนอน หรือหลังเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก แนะนำให้แช่น้ำร้อนสักพัก ความร้อนจะกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด คลายอาการเมื่อยล้า และกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติกทำให้ร่างกายและจิตใจกระฉับกระเฉงขึ้น แต่ไม่ควรอาบนานเกิน 10-15 นาที ผิวจะแห้งตึง หากขาดการบำรุงจะทำให้ผิวแห้งเหี่ยวก่อนวัย

*น้ำอุ่น มีอุณหภูมิต่ำกว่าน้ำร้อนคือประมาณ 24-34 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาราเธติก ทำให้ร่างกาย จิตใจสงบลง ก่อนจะอาบน้ำอุ่น ควรดื่มน้ำก่อน 1 แก้วเพื่อเปิดรูขุมขนทั่วร่างกาย น้ำอุ่นช่วยผ่อนคลายกว่าการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจัด และอาบได้นานกว่าน้ำร้อน เพราะมีเวลารอให้รูขุมขนขยายเต็มที่นานถึง 20 นาที แต่หากเกินกว่านี้จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ผิวแห้งและคัน

*ทั้งนี้ผู้ที่อาบน้ำร้อนและน้ำอุ่น หลังอาบน้ำควรทามอยส์เจอไรซ์เซอร์หรือครีมบำรุง ชดเชยความมันบนผิวหนังที่สูญเสียไปขณะที่รูขุมขนเปิดเนื้อครีมจะซึมลึกเข้าไปบำรุงผิวได้ดีกว่า สำหรับคนผิวแห้ง ควรงดอาบน้ำอุ่นและน้ำร้อน ส่วนคนผิวธรรมดาและผิวมันไม่ควรอาบเกิน 2 ครั้งต่อวัน นอกจากวันที่อากาศร้อนมากๆ อุณหภูมิน้ำร้อนและน้ำอุ่นเหมาะกับคนป่วยที่กำลังมีไข้ เพราะร่างกายไม่ต้องปรับอุณหภูมิมาก หากอาบน้ำเย็นจะทำให้ไข้สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

*อาบด้วยฝักบัว : ฝักบัวมีพลังจากน้ำแรงพอที่จะไล่ไขมันให้ไปรวมกันได้ ช่วยลดไขมันในร่างกาย คล้ายกับนวดตัวไปในตัว โดยฉีดน้ำไล่จากล่างขึ้นบน โดยเฉพาะบริเวณที่ไขมันสะสมมาก หรืออาบพร้อมกลิ่นบำบัดโดยใส่การบูรหรือสมุนไพรในถุงเล็กๆ แขวนไว้ที่หัวฝักบัว แล้วปล่อยน้ำฉีดออกมาขณะอาบน้ำร้อน กลิ่นสมุนไพรจะระเหยตามออกมาด้วย

*แช่อ่างอาบน้ำ : ความดันใต้น้ำทำให้รู้สึกสบาย คลายอาการเมื่อยเท้า เท้าบวมได้ แต่ไม่ควรแช่น้ำนาน เพราะความร้อนจะทำให้ผิวหยุดผลัดเปลี่ยน ผิวไม่เปล่งปลั่งเหมือนกับใช้ฝักบัวหรือขันอาบ

*เพื่อผิวสวยแล้วควรแช่น้ำสัก 8-10 นาทีแล้วออกมานั่งถูตัวหรือสระผมข้างนอกอีก 5 นาที กลับไปแช่อีกครั้ง โดยแช่เท้าก่อน ให้น้ำค่อยๆ ท่วมถึงน่อง แขน และฝ่ามือ พยายามให้น้ำสูงขึ้นจากปลายเข้าสู่แกนกลางของร่างกาย ร่างกายจะค่อยๆ อุ่นขึ้น กล้ามเนื้อลดความแข็งเกร็ง

*ลองยืดเส้นยืดสายในน้ำ เช่น ยกขาให้เท้าชี้ไปด้านหน้า เกร็งหน้าท้องไว้แล้วค่อยๆ วางลงจะช่วยลดหน้าท้องได้ หรือบิดเอวไปมาใต้น้ำช่วยลดไขมันรอบเอว การที่ร่างกายต้องต้านแรงพยุงน้ำเพื่อเคลื่อนไหวทำให้ใช้แรงมากกว่าอยู่ในอากาศ จึงขับเหงื่อออกได้มากกว่า

*ช่วงเวลาอาบน้ำ

*เวลาที่เหมาะสำหรับการอาบน้ำคือ ก่อนรับประทานอาหาร หรือ หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด เพราะหลังอิ่มใหม่ๆ เลือดจะไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารมากขึ้น หากอาบน้ำทันที ระบบประสาทอัตโนมัติจะสั่งให้หลอดเลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้เย็นเกินไป เลือดจึงไปเลี้ยงกระเพาะอาหารน้อยลง ทำให้การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ อาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้

*พักเหนื่อย 1 ชั่วโมงหลังออกกำลังใหม่ๆ คือหลังเล่นกีฬาเสร็จ เลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการออกกำลังกาย เมื่ออาบน้ำทันทีเลือดจะมากระจุกที่ผิว ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายยังคงรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ควรอาบน้ำเกิน 2 ครั้งต่อวัน เพราะจะทำให้ผิวแห้งและเป็นหวัดตามมาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น